บทที่ 5 กำไรสุทธิพระเอกจอมสับขาหลอก

     สับขาหลอกคืออะไร? ในกีฬาฟุตบอลหรือซ็อคเกอร์จะเห็นว่าเวลาที่นักบอลเขาจะเลี้ยงบอลผ่านคู่ต่อสู้ นักบอลหลาย ๆ คนมักจะใช้วิธีสับขาหลอกโดยการขยับขา( และเท้า )ทำเหมือนกับว่าจะแตะบอลไปทางซ้ายหรือทางขวา หรือซ้ายซ้าย หรือขวาขวา หรือซ้ายขวา หรือขวาซ้าย หรือฯลฯ เพื่อหลอกล่อให้คู่ต่อสู้งง งงมากถึงขั้นหลงทางหัวทิ่มหัวตำ งงน้อยอาจจะแค่เสียหลัก แต่ถ้าไม่งงเลยพระเอกจอมสับขาของเราก็ไปไม่เป็นเลยแหละ

     กลับมามองที่กำไรสุทธิ นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะชอบหุ้นของบริษัทที่มีกำไรสุทธิเยอะ ๆ กำไรสุทธิจึงเปรียบเสมือนพระเอกของตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนจึงควรรู้เท่าทันพระเอกของเราเพื่อไม่ให้งงไปกับการสับขาหลอก

     เท้าความกันก่อนสำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า สิ่งที่นักลงทุนต้องการคือการเติบโตของเงินลงทุน ซึ่งแนวทางพื้นฐานก็คือ
         “เมื่อเราลงทุนในกิจการใด ๆ กิจการนั้นควรนำเงินลงทุนของเราไปใช้จ่ายแล้วเกิดกำไรถึงผู้ถือหุ้น ขยายความให้ลึกลงไปอีก กำไรถึงผู้ถือหุ้นคืออะไร กำไรส่วนนี้อันดับแรกอาจกลับมาในรูปเงินปันผล อันดับถัดไปคือไม่ได้ปันผลแต่เอากำไรของผู้ถือหุ้นไปลงทุนต่อ แล้วเงินลงทุนนั้นนอกจากไม่สูญหายแล้วยังออกดอกออกผลต่อไปได้อีก”

แล้วทำไมกำไรสุทธิถึงสับขาหลอกเราล่ะ ?
       - ตอบง่าย ๆ ก็คือ ก็ไม่รู้ว่ากำไรนั้นจะถึงผู้ถือหุ้นหรือเปล่านะสิ

แล้วทำไมกำไรสุทธิถึงมาไม่ถึงผู้ถือหุ้นล่ะ ?
     - อันนี้ตอบง่าย ๆ ไม่ได้แล้ว เท้าความกันอีกที ยกตัวอย่างประเด็นหนึ่งที่คุณปุ่วอเรน พูดซ้ำพูดซากหลายครั้งหลายคราเรื่องของค่าใช้จ่ายลงทุน ลองนึกภาพถึงกิจการใด ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นกิจการจะดำเนินงานดังต่อไปนี้
          1. หาเงินทุนมาจากเจ้าของกิจการส่วนหนึ่ง เจ้าหนี้ส่วนหนึ่ง( นี่คือส่วนของหนี้สินและส่วนของเจ้าของในงบดุล )
         2. นำเงินไปสร้างออฟฟิศ โกดัง เครื่องจักร สินค้าคงคลัง ฯลฯ( นี่คือส่วนของสินทรัพย์ในงบดุล )
         3. เงินที่ได้จากการขายสินค้าคงคลังถือเป็นรายได้
         4. เงินที่เคยจ่ายเพื่อการหาและผลิตสินค้าคงคลังถือเป็นต้นทุน 
         5. รายได้ลบด้วยต้นทุนคือกำไรขั้นต้น 
         6. เงินที่ลงไปในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนเช่น ออฟฟิศ โกดัง เครื่องจักร เงินตัวนี่แหละที่จ่ายออกไปแล้วไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย ไม่เอาไปหักออกจากรายได้ แต่เอาไปบันทึกเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนแล้ว แล้วค่อยทยอยหักเป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า”ค่าเสื่อม” 
         7. ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย แต่เงินต้นไม่คิดเป็นค่าใช้จ่าย 
         8. กำไรสุทธิเกิดจากกำไรขั้นต้นในข้อ 5. ลบออกด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในข้อ 6.และ 7. และภาษี

     มาถึงตรงนี้สิ่งที่ควรพิจารณาให้ละเอียดก็คือข้อ 6. ทุก ๆ ปีหลาย ๆ กิจการมีความจำเป็นที่จะต้องกลับไปพัฒนาสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนต่าง ๆ เช่นปรับปรุงอาคาร ซ่อมบำรุงเครื่องจักร ฯลฯ ไอ้ครั้นกิจการจะไม่ปรับปรุงก็ไม่ได้เพราะอนาคตก็ไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน มันถือเป็นการบังคับว่าต้องกลับมาปรับปรุงบำรุงกันยกใหญ่เพื่อรักษาระดับของกำลังการผลิต รักษาระดับของยอดขาย นี่แค่รักษาระดับนะอย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงการเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มยอดขาย ที่ซ้ำร้ายก็คือเงินส่วนนั้นถ้าไม่แบ่งไปจากกำไรสุทธิไปใช้ก็ต้องไปกู้ยืมเขามา ถ้าผู้บริหารเอางบประมาณมาจากกำไรสุทธิ พอนักลงทุนกลับไปอ่านแนวทางพื้นฐานอีกรอบที่กล่าวถึงกำไรที่กลับไปถึงผู้ถือหุ้น นักลงทุนก็จะพบคำตอบทันทีว่ากำไรที่ไม่ถึงผู้ถือหุ้นหน้าตาเป็นอย่างไร งบประมาณส่วนนี้แหละที่วอเรน บัฟเฟตต์เรียกว่าค่าใช้จ่ายลงทุนซึ่งแทบจะไม่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นเลย และที่ซ้ำร้ายเข้าไปอีกก็คือเงินส่วนนี้ไม่นำไปใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งหมด เพราะจะถูกบันทึกเป็นสินทรัพย์และทยอยคิดเป็นค่าเสื่อม ผลที่ตามมาอย่างน่าใจหายก็คือ กำไรสุทธิสูง สินทรัพย์ก็มีมูลค่าสูงตาม มูลค่าทางบัญชี( Book Value )ก็สูงเข้าไปอีก แต่รายได้ในปีถัด ๆ ไปกลับไม่เติบโต เฮ้อ.....ปวดหัวจริง ๆ

     แต่ถ้าผู้บริหารไม่เอางบประมาณมาจากกำไรสุทธิ แล้วไปเลือกวิธีกู้หนี้ยืมสินเขามา ผลที่เกิดขึ้น ขั้นต้นก็แบบเดียวกับข้างต้นก็คือสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ทยอยคิดค่าเสื่อม กำไรก็ยังคงสูง แต่ก็ยังคงไม่ถึงผู้ถือหุ้นอยู่ดี เพราะต้องเอาไปคืนเจ้าหนี้นั่นเอง ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า

     ทั้งสองกรณีนี้เองที่เป็นสาเหตุให้วอเรน บัฟเฟตต์ไม่ชอบกิจการที่มีหนี้เยอะ ๆ หรือกิจการที่มีระบบการผลิตที่วุ่นวายซับซ้อนและกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพราะกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นมันไม่ถึงเจ้าของนั่นเอง

     สรุปกันชัด ๆ อีกครั้งว่าหัวใจของการลงทุนคือผลตอบแทนที่ส่งถึงผู้ถือหุ้นแต่กำไรสุทธิอาจจะส่งไม่ถึงผู้ถือหุ้นก็ได้ ขอให้นักลงทุนทุกท่านไม่ถูกกำไรสุทธิสับขาหลอก

-----------------

ลิงค์ไปบทอื่น ๆ


บทนำ

บทที่ 1 เรียกน้ำย่อย 

บทที่ 2 มูลค่าอนาคตและมูลค่าปัจจุบัน

บทที่ 3 วิธีคำนวณมูลค่าหุ้นกู้,พันธบัตรและวิธีคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญ 

บทที่ 4 เงินปันผลกับความไม่สมเหตุสมผลในการคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญ 

บทที่ 5 กำไรสุทธิพระเอกจอมสับขาหลอก 

บทที่ 6 กำไรของเจ้าของพระเอกตัวจริง 

บทที่ 7 กำไรของเจ้าของบอกมูลค่าของกิจการ