บทที่ 6 กำไรของเจ้าของพระเอกตัวจริง

          ปรัชญาการลงทุนที่วอเรน บัฟเฟตต์ทิ้งเอาไว้ให้นักลงทุนรุ่นหลัง พระเอกตัวจริงของทุก ๆ คนก็คือ “กำไรของเจ้าของ( Owner Earning )” แนวคิดของเขา วอเรนยังคงยึดถือแนวทางหลักเอาไว้ และก็ปรับปรุงกำไรสุทธิ โดยตัดกำไรส่วนที่ไปไม่ถึงผู้ถือหุ้นออก แล้วบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายออกไปจริง ๆ กลับเข้ามา เพราะเขาถือว่าเงินสดที่ไม่ถูกจ่ายออกไปนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กิจการได้อีก แล้วเขาก็เรียกกำไรอันใหม่นั้นว่า “กำไรของเจ้าของ”

          สิ่งแรกที่วอเรนมักจะพูดถึงเสมอ ๆ พูดแล้วพูดอีก ก็คือเรื่องของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของกิจการ จากตัวอย่างในหัวข้อข้างต้น การปรับปรุงเครื่องจักร การปรับปรุงอาคาร การปรับปรุงเครื่องมือทำมาหากินของกิจการ จะเกิดเหตุการณ์ทางบัญชีดังนี้

          1. กิจการจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นค่าปรับปรุงสินทรัพย์นั้น
          2. เงินจำนวนนั้นไม่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน แต่เงินทั้งก้อนจะนำไปบันทึกเป็นสินทรัพย์ถาวร
          3. เงินก้อนนั้นจะถูกแบ่งเป็นค่าเสื่อมทยอยจ่ายไป 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แล้วแต่ชนิดของสินทรัพย์
          4. หลังจากเกิดค่าเสื่อมในปีแรก พอมาปีที่สองก็เกิดการปรับปรุงสินทรัพย์ถาวรอีก เงินก้อนเก่าก็ยังคิดเป็นค่าใช้จ่ายไม่หมด เงินก่อนใหม่ก็มาทบเสียแล้ว สินทรัพย์ก็พอกพูนเข้าไปอีก
          5. ขอให้สังเกตเงินที่จ่ายออก กับ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
                    5.1. เกิดการจ่ายเงินไป 1 ก้อนใหญ่ ๆ เพื่อปรับปรุงสินทรัพย์ อันนี้แหละที่วอเรนเรียกว่า”ค่าใช้จ่ายลงทุน”
                    5.2. เกิดการบันทึกค่าเสื่อมเป็นค่าใช้จ่าย แต่จริง ๆ แล้วกิจการจ่ายเงินก้อนนั้นออกไปแล้ว

จากข้อ 5 นี่แหละวิธีคิดของวอเรนจึงหักค่าใช้จ่ายลงทุนออกจากกำไรสุทธิ เพราะมันไม่มีทางมาถึงผู้ถือหุ้น แล้วบวกกลับเข้าไปด้วยค่าเสื่อม ทำให้เริ่มเห็นหน้าตาของกำไรของเจ้าของแล้วล่ะ ทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้

 >>กำไรของเจ้าของ = กำไรสุทธิ+ค่าเสื่อม–ค่าใช้จ่ายลงทุน<<

เมื่อนักลงทุนเพ่งสูตรนี้ดี ๆ จะเห็นว่า พระเอกจอมสับขาหลอกกลายเป็นตัวประกอบไปในทันที รู้ทันพระเอก พระเอกก็ได้แต่ทำตาปริบ ๆ มองพระเอกตัวจริงที่อยู่หัวแถวนั่นไง

          สูตรที่ได้นี้เจ้าของสูตรเขาไม่ได้เอาไปใช้พร่ำเพรื่อ วอเรน บัฟเฟตต์จะเอากำไรของเจ้าของไปคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญแต่เขาจะมีข้อกำหนดว่า เขาจะคำนวณเฉพาะกิจการชั้นยอดเท่านั้น นั่นคือเมื่อเขาพิจารณากิจการใด ๆ แล้วหากกิจการนั้นไม่เข้าตาเขาจะไม่เสียเวลาไปคำนวณมูลค่าเลย เมื่อมาถึงตรงนี้ก็จะเกิดคำถามว่าเราจะหากิจการชั้นยอดได้อย่างไร คำตอบก็หาได้ตามหนังสือทั่วไปที่เขียนเกี่ยวกับแนวคิดของวอเรน เช่น กิจการที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน กิจการที่มีหนี้สินต่ำโดยพิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น กิจการที่มีการเติบโตของยอดขายและกำไรอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ นั่นก็แปลว่าเมื่อนักลงทุนพบกิจการที่มีผลประกอบการไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปหามูลค่าหุ้นของมันนั่นเอง

--------------------------

ลิงค์ไปบทอื่น ๆ


บทนำ

บทที่ 1 เรียกน้ำย่อย 

บทที่ 2 มูลค่าอนาคตและมูลค่าปัจจุบัน

บทที่ 3 วิธีคำนวณมูลค่าหุ้นกู้,พันธบัตรและวิธีคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญ 

บทที่ 4 เงินปันผลกับความไม่สมเหตุสมผลในการคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญ 

บทที่ 5 กำไรสุทธิพระเอกจอมสับขาหลอก 

บทที่ 6 กำไรของเจ้าของพระเอกตัวจริง 

บทที่ 7 กำไรของเจ้าของบอกมูลค่าของกิจการ