บทที่ 7 กำไรของเจ้าของบอกมูลค่าของกิจการ

     บทที่แล้วได้พระเอกตัวจริงคือ “กำไรของเจ้าของ” บทนี้ก็จะเอาพระเอกไปใช้งาน เมื่อเราย้อนไปที่หัวใจของการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ซึ่งก็คือ “มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นตลอดอายุของหลักทรัพย์นั้น” ซึ่งหลักการนี้นำไปใช้ในการคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้และพันธบัตรได้ แต่ในการคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญตามปรัชญาการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ จำเป็นต้องประยุกต์หัวใจเล็กน้อย วอร์เรนมองกระแสเงินสดที่ตอบแทนเจ้าของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ เทียบเท่ากับกำไรของเจ้าของในหุ้นสามัญ

     กระแสเงินสดที่บริษัทฯจ่ายให้ผู้ถือหุ้นกู้ถือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้ที่ถือหุ้นกู้ แต่ผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหุ้นสามัญก็คือกำไรที่กิจการสามารถจ่ายเป็นเงินคืนให้ผู้ถือหุ้น หรือกำไรที่กิจการสามารถเอาไปลงทุนเพื่อเพิ่มกำไร เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้นซึ่งจากผลตอบแทนแบบนี้ก็คือ “กำไรของเจ้าของ” นั่นเอง

     การหามูลค่าหุ้นสามัญตามปรัชญาการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ จึง นำ “กำไรของเจ้าของ” ไปแทน “เงินปันผล” ในสูตรการคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญตามตำราเรียนนั่นเอง แต่นักลงทุนควรจะระลึกไว้เสมอว่า จงหามูลค่าหุ้นสามัญจากกิจการชั้นยอดเท่านั้น( ซึ่งครั้งหนึ่งวอร์เรนเคยกล่าวว่า เขาจะมองหากิจการยอดเยี่ยมที่ราคาปานกลาง ดีกว่าที่จะไปมองหากิจการปานกลางในราคายอดเยี่ยม ซึ่งเป็นการเล่นคำระหว่าง great คือยอดเยี่ยม และ fair คือปานกลาง ) กิจการชั้นยอดในมุมมองของวอร์เรนท์หน้าตาเป็นอย่างไร หนังสือตามร้านมีให้เลือกมากมาย หากไม่รีบร้อนก็รออ่านจากบทต่อ ๆ ไปก็ได้

     ข้อจำกัดสำคัญอีกอย่างของการหามูลค่าหุ้นสามัญก็คือ ไม่ว่าสูตรจากตำราเรียน หรือสูตรจากปรัชญาของวอร์เรนท์ ต่างก็ใช้การคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคตทั้งนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือการคาดการณ์กิจการใด ๆ นั้น การมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือความชอบส่วนตัว จะทำให้เรามั่นใจในกิจการมากเกินไปและคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญได้สูงเกินไป ก็ได้

     และสุดท้ายอย่าลืมมรดกสำคัญที่ปรมาจารย์ของ VI สายคุณปู่วอร์เรน( วอร์เรนคืออาจารย์ ปรมาจารย์ก็คืออาจารย์ของอาจารย์ )คือ เบนจามิน เกรแฮม ได้ทิ้งไว้ให้ก็คือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัย วอร์เรนได้พัฒนาปรัชญาการลงทุนของเบนจามิน เกรแฮม จนมีวิธีหามูลค่ากิจการคนละวิธีกัน แต่เขาจะไม่มีวันเปลี่ยนใจไปจาก Margin of Safety เลย หลังจากที่ทั้งสองท่านหามูลค่ากิจการตามวิธีของตนได้แล้ว( ต้องไม่ลืมว่ามันเป็นมูลค่าที่ได้จากการคาดการณ์กำไรในอนาคต )พวกเขาจะเผื่อใจไว้เสมอว่าพวกเขาอาจจะคำนวณผิด อาจจะได้มูลค่าที่สูงเกินไป พวกเขาจะลดมูลค่าที่คำนวณได้เหลือเพียง 2 ใน 3 ส่วนลดตรงนี้ก็คือ Margin of Safety พวกเขาจะตัดสินใจซื้อหุ้นสามัญของกิจการนั้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจาก Margin of Safety ซึ่งวอร์เรนเคยกล่าวว่านักลงทุนจะทำกำไรสูง ๆ ได้จาก Margin of Safety

     บทนี้ก็จะจบด้วยสูตรการหามูลค่าหุ้นสามัญ เมื่อเข้าใจวิธีการทั้งหมดแล้ว กลับไปพิจารณาโมเดลโคคา-โคล่าอีกครั้ง ทุกท่านคงจะได้เห็นแนวคิดพื้นฐานของคุณปู่วอร์เรนที่ดูเหมือนจะลึกลับแต่จริง ๆ แล้วมันคือแนวคิดพื้นฐานธรรมดา ๆ ตัดสินใจบนเหตุและผล และโมเดลนั้นน่าจะเป็นแบบฝึกหัดให้นักลงทุนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี




ขั้นแรก หากำไรของเจ้าของในแต่ละปี


ขั้นต่อมาพิจารณา
1. กำไรของเจ้าของเพิ่มขึ้นทุกปี
2. กิจการมี 
     2.1. Brand 
     2.2  ความแข็งแกร่งทางการตลาด
     2.3. บริหารเพื่อผู้ถือหุ้นโดยดูจาก
            - กำไรสะสมที่เก็บไว้สร้างผลตอบแทน(ROE)ให้ผู้ถือหุ้นได้
3. จากข้อ 2 จึงได้ข้อสรุปว่า
     3.1 กิจการนี้เหมาะสมที่จะใช้เวลาเพื่อคำนวณมูลค่าที่แท้จริง
     3.2 กำไรของเจ้าของน่าจะเติบโต
           3.2.1. ช่วง 10 ปีแรกเติบโต 10%
           3.2.2. ตั้งแต่ปีที่ 11 เติบโตปีละ 5%
4. การหามูลค่าหุ้นใช้โมเดลข้างต้นในข้อ 3


-----------------------------------------

ลิงค์ไปบทอื่น ๆ


บทนำ

บทที่ 1 เรียกน้ำย่อย 

บทที่ 2 มูลค่าอนาคตและมูลค่าปัจจุบัน

บทที่ 3 วิธีคำนวณมูลค่าหุ้นกู้,พันธบัตรและวิธีคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญ 

บทที่ 4 เงินปันผลกับความไม่สมเหตุสมผลในการคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญ 

บทที่ 5 กำไรสุทธิพระเอกจอมสับขาหลอก 

บทที่ 6 กำไรของเจ้าของพระเอกตัวจริง 

บทที่ 7 กำไรของเจ้าของบอกมูลค่าของกิจการ